iconsearch
iconsitemap
ประวัติความเป็นมา
1 มี.ค. 2562
7931

ประวัติความเป็นมา

 

สำนักงานรัฐมนตรี ได้ตั้งขึ้นมาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธรรมนูญราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2476 และพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช 2476 โดยเรียกชื่อว่า กรมเลขานุการรัฐมนตรี มีฐานะเป็นกรมในสังกัด กระทรวงพระคลัง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 ในปี 2476 ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยธรรมนูญราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2476 ซึ่งในพระราชบัญญัติ ได้แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็นกระทรวง โดยแต่ละกระทรวงจะมีรัฐมนตรีเป็นผู้ว่าการ (มาตรา 4) และในกระทรวงหนึ่งๆ แบ่งส่วนราชการออกเป็น (1) กรมเลขานุการรัฐมนตรี (2) กรมปลัด และ (3) กรมอื่นๆ ตามจำเป็น (มาตรา 6) โดยสำหรับกรมเลขานุการรัฐมนตรี มีเลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งการเมืองเป็นหัวหน้า ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (มาตรา 7) 

 โดยพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช 2476 ซึ่งตราขึ้นในปีเดียวกัน ได้จัดตั้งกระทรวงพระคลังขึ้น (มาตรา 4) โดยให้มีหน้าที่บริหารการเงินแผ่นดิน การภาษีอากร และการพัสดุ (มาตรา 12) และได้แบ่งส่วนราชการในกระทรวงพระคลัง เป็น 8 กรม อันได้แก่ (1) กรมเลขานุการรัฐมนตรี (2) กรมปลัด (3) กรมบัญชีกลาง (4) กรมพระคลัง (5) กรมสรรพากร (6) กรมศุลกากร (7) กรมสรรพสามิตต์และฝิ่น และ (8) กรมพัสดุแห่งชาติ (มาตรา 13) 

สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี ในเวลาต่อมากรมเลขานุการรัฐมนตรีได้ปรับเปลี่ยนเป็นสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 ในปี 2476 เพื่อการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการให้ทันสมัยยิ่งขึ้น จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 ขึ้น โดยในพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เริ่มให้มีการจัดระเบียบราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน อันได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น (มาตรา 4) เป็นครั้งแรก 

 สำหรับราชการบริหารส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวงหรือทะบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง (มาตรา 5) โดยมีรัฐมนตรีคนหนึ่งว่าการบังคับบัญชาและรับผิดชอบ ซึ่งหากมีภารกิจมาก อาจมีรัฐมนตรีช่วยว่าการด้วยก็ได้ (มาตรา 6) และกำหนดให้แต่ละกระทรวงจัดระเบียบราชการออกเป็น (1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี (2) สำนักงานปลัดกระทรวง และ (3) กรม หรือทะบวงการเมือง ซึ่งมีฐานะเทียบกรม (มาตรา 8)

นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทะบวง กรม พุทธศักราช 2476 ซึ่งตราขึ้นในปีเดียวกัน ได้กำหนดให้มีกระทรวงหรือทบวงการเมืองซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ที่มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามกฎหมาย รวม 9 กระทรวง รวมถึง กระทรวงการคลัง ด้วย (มาตรา 4) โดยบัญญัติให้กระทรวงการคลังมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการเงินแผ่นดิน การภาษีอากร และการพัสดุ (มาตรา 7) และให้แบ่งส่วนราชการภายในกระทรวงการคลัง 8 ส่วนราชการ ได้แก่ (1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี (2) สำนักงานปลัดกระทรวง (3) กรมคลัง (4) กรมบัญชีกลาง (5) กรมพัสดุ (6) กรมศุลกากร (7) กรมสรรพสามิตต์ และ (8) กรมสรรพากร (มาตรา 8)

 สำหรับการแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงานและกรมในสังกัดกระทรวงการคลังนั้น ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงการคลัง พุทธศักราช 2476 ขึ้น โดยในมาตรา 4 ได้แบ่งส่วนราชการของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี ออกเป็น 2 แผนก คือ (1) แผนกการเมือง และ (2) แผนกตรวจสอบเรื่องราวและความเห็น

 ในปี 2484 เมื่อพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทะบวง กรม พุทธศักราช 2476 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ใช้บังคับมาแล้วช่วงเวลาหนึ่ง จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2484 มาใช้บังคับแทน โดยในพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เพิ่มกระทรวงหรือทะบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบกระทรวงจากเดิม 9 กระทรวง เป็น 10 กระทรวง (มาตรา 4) และได้ปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินแผ่นดิน การภาษีอากร และรัษฎากรอื่นๆ (มาตรา 8) พร้อมกับได้จัดแบ่งส่วนราชการในกระทรวงการคลังใหม่ ลดจาก 8 ส่วนราชการ เหลือ 7 ส่วนราชการ ได้แก่ (1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี (2) สำนักงานปลัดกระทรวง (3) กรมคลัง (4) กรมบัญชีกลาง (5) กรมศุลกากร (6) กรมสรรพสามิตต์ และ (7) กรมสรรพากร

 ในปี 2495 ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 เพื่อบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 ซึ่งในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังคงกำหนดให้มีการจัดระเบียบราชการในกระทรวงเป็น (1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี (2) สำนักงานปลัดกระทรวง และ (3) กรมหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบกรม (มาตรา 18) เช่นเดิม แต่ได้มีการบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้าที่ การบังคับบัญชา และการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีใหม่ โดยกำหนดให้สำนักงานรัฐมนตรีมีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมือง ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีเลขานุการรัฐมนตรีที่เป็นข้าราชการการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชา โดยหากมีราชการมากอาจมีผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองเช่นเดียวกัน อีกคนหนึ่งหรือหลายคน ก็ได้ และในส่วนของการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี จะแบ่งเป็นกี่แผนกก็แล้วแต่ปริมาณ และคุณภาพของราชการ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการนั้นเป็นผู้บังคับบัญชา (มาตรา 20)

 และในปีเดียวกัน ได้มีการตราพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2495 มาใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2484 โดยได้เพิ่มกระทรวงและทบวงการเมืองเทียบเท่ากระทรวง จำนวน 10 กระทรวง เป็น 14 กระทรวง (มาตรา 4) โดยในพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง (มาตรา 8) แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง 2 กรม ได้แก่ กรมคลัง เป็นกรมธนารักษ์ และกรมสรรพสามิตต์ เป็นกรมสรรพสามิต (มาตรา 9) 

แต่ในปี 2496 ได้มีการตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2496 ได้มีปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินแผ่นดิน ภาษีอากร การรัษฎากร หรือกิจการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินนอกจากสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กิจการอันกฎหมายบัญญัติให้เป็นการผูกขาดของรัฐ กิจการหารายได้ซึ่งรัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่ผู้เดียวตามกฎหมาย และไม่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงทบวงกรมอื่น และกิจการซึ่งจะเป็นสัญญาผูกพันต่อเมื่อรัฐได้ให้อำนาจ หรือให้สัตยาบัน (มาตรา 10) นอกจากนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อกรมคลัง เป็น กรมธนารักษ์ ด้วย (มาตรา 11)

ในปี 2505 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีและสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2505 ได้แบ่งส่วนราชการของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี เป็น 2 แผนก คือ แผนกการเมือง และแผนกตรวจสอบเรื่องราวและความเห็น (มาตรา 4)

 ต่อมาในปี 2506 ได้มีการตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2506 มาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีการปรับเปลี่ยนกระทรวงเหลือเพียง 13 กระทรวง (มาตรา 4) และได้เพิ่มส่วนราชการในกระทรวงการคลัง จาก 7 ส่วนราชการ เป็น 8 ส่วนราชการ โดยเพิ่มสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งมีฐานะเป็นกรม อีก 1 ส่วนราชการ

การปรับเปลี่ยนฐานะและงบประมาณในปี 2515 ด้วยผลของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ส่งผลให้สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งมีฐานะเป็น กรม มาโดยตลอด กลายเป็นส่วนราชการหนึ่งในกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่มีฐานะเป็นกรมอีกต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

 ในปี 2515 ภายหลังจากการการปฏิวัติโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2514 ได้มีการออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ขึ้นมา ซึ่งมีผลให้เป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และได้ใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้เป็นกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดินแทน 


 โดยในประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าว ในมาตรา 19 ได้จัดระเบียบราชการในกระทรวง เป็น (1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี (2) สำนักงานปลัดกระทรวง และ (3) กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ในทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 

 แต่ในมาตรา 19 วรรคสอง ได้กำหนดให้ส่วนราชการในลำดับที่ (2) และที่ (3) มีฐานะเป็นกรม ส่งผลให้สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี ไม่มีฐานะเป็นกรมอีกต่อไป 

 และในปีเดียว ได้มีการประกาศใช้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ขึ้นมาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2506 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยปรับลดกระทรวงลงเหลือ 12 กระทรวง (มาตรา 2) 

 ต่อมาในปี 2534 ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ออกมายกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ และให้เป็นกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดินฉบับใหม่แล้วก็ตาม แต่ผลของประกาศคณะปฏิวัติที่มีต่อสำนักงานรัฐมนตรี ก็ยังถูกยืนยันไว้ใน มาตรา 18 เช่นเดิม

 ในปีเดียวกัน ได้มีการตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 ได้เพิ่มส่วนราชการระดับกระทรวงเป็น 14 กระทรวง (มาตรา 4) 

 ในปี 2537 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2537 สำหรับการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีเสียใหม่ โดยได้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น (มาตรา 3) โดยได้แบ่งส่วนราชการของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีออกเป็น ฝ่ายบริหารงานทั่วไป และฝ่ายการเมืองและประสานนโยบาย (มาตรา 4) โดยได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายไว้อย่างชัดเจนด้วย (มาตรา 5) 

 ในปี 2543 ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓ เปลี่ยนแปลงวิธีการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม โดยให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดของส่วนราชการ เป็นผู้ออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการดังกล่าว และให้ระบุอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนราชการไว้ในกฎกระทรวงด้วย และเมื่อกฎกระทรวงดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ (มาตรา ๘ ฉ)

สำนักงานรัฐมนตรี


 เพื่อการปรับโครงสร้างส่วนราชการให้เหมาะสมตามหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ และหลักธรรมาภิบาล จึงได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อ สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีเป็นสำนักงานรัฐมนตรี โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 ในปี 2545 รัฐบาลไทยได้นำหลักการการบริหารภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) และหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มาใช้เป็นหลักในการปฏิรูประบบราชการ เพื่อให้เป็นระบบราชการที่พึงปรารถนา ที่ (1) สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สัมฤทธิผล และคุ้มค่า (2) มีความรับผิดชอบ เที่ยงธรรม สุจริตโปร่งใส ตรวจสอบได้ และประชาชนมีส่วนร่วม จึงได้มีการดำเนินกระบวนการจัดระเบียบโครงสร้างส่วนราชการใหม่ โดยได้มีการ

 1. ปรับส่วนราชการที่มีบทบาทภารกิจใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน โดยการ (1) ยุบเลิกส่วนราชการที่ไม่จำเป็น (2) เพิ่มกระทรวงและหน่วยงานใหม่ (3) มีการจัดภารกิจของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
 2. ปรับโครงสร้างการบริหารราชการภายในกระทรวงและกรม
 3. จัดโครงสร้างและระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาค

 สำหรับสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี นั้น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕)
พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 17 ได้ทำการปรับเปลี่ยนชื่อ สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีเป็น สำนักงานรัฐมนตรี โดยบัญญัติให้แก้ไขคำว่า สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นคำว่า สำนักงานรัฐมนตรีทุกแห่ง

 และในปี 2545 กระทรวงการคลังได้มีการออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้แก่ (๑) งานบริหารทั่วไป (๒) กลุ่มงานประสานการเมือง และ (๓) กลุ่มงานสนับสนุนวิชาการ

 

เอกสารอ้างอิง

พระราชบัญญัติว่าด้วยธรรมนูญราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2476 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 หน้า 167-171 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2476
พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช 2476 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 หน้า 172-178 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2476
พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 หน้า 751-762 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2476
พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทะบวง กรม พุทธศักราช 2476 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 หน้า 763 764 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2476
พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงการคลัง พุทธศักราช 2476 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 หน้า 857 869 ลงวันที่ 30 มกราคม 2476
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2484 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 หน้า 1038 1048 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2484
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 69 ตอนที่ 16 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2495 หน้า 286-312
พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2495 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 69 ตอนที่ 16 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2495 หน้า 313-327
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2496 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 70 ตอนที่ 81 ฉบับพิเศษ ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2496 หน้า 13-29
พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีและสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง พ.ศ.2505 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 79 ตอนที่ 57 ฉบับพิเศษ 
ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2505 หน้า 4-6
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2506 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 50 ฉบับพิเศษ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2506 หน้า 1-15
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 145 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 หน้า 53-95
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 89 ตอนที่ 145 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 หน้า 1-16
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 108 ตอนที่ 156 ลงวันที่ 4 กันยายน 2534 หน้า 1-41
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2534 ตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 108 ตอนที่ 156 ลงวันที่ 4 กันยายน 2534 หน้า 42-60
พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง พ.ศ.2537 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนที่ 61 ก ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2537 หน้า 21-23
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2543 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 37 ก ลงวันที่ 28 เมษายน 2543 หน้า 22
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 99 ก ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2545 หน้า 1
กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง พ.ศ.2545 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 ตอนที่ 103 ก ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2545 หน้า 87